อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย

klengkrajandam03_1423031411
เขื่อนแก่งกระจาน เป็นชื่ออุทยานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

มีการขยายพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่เขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนด้วยเช่นกัน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร

แก่งกระจาน เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือ ยอดเขางะงันนิกยวงตอง อยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูนก ดูผีเสื้อ และสัตว์ป่านานาชนิด จึงมีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเชื่อมต่อกับเทือกเขาภูเก็ตของภาคใต้และตอนเหนือเข้าไปในประเทศพม่า สัตว์ป่าจากประเทศอินเดียและพม่าจะแพร่กระจายลงมาทางทิศตะวันตกของประเทศลงมาถึงบริเวณนี้ และพวกสัตว์ป่าจากประเทศมาเลเซียก็จะแพร่กระจายขึ้นมาตามเทือกเขาภูเก็ตมาถึงบริเวณนี้เช่นเดียวกัน

ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่าทั้งจากทิศเหนือและทิศใต้ ชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญได้แก่ ช้างป่า หมีหมา หมาไน หมาจิ้งจอก เสือดาว เสือโคร่ง เลียงผา สมเสร็จ วัวแดง กวางป่า เก้งหม้อ ชะนีมือขาว ลิงเสน นกกระสาคอขาว เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกเค้าหน้าผากขาว กบทูด ปาดยักษ์ เต่าหก จิ้งเหลนภูเขาสีจาง เป็นต้น นอกจากนี้ในบริเวณลำธารและอ่างเก็บน้ำ สำรวจพบปลาน้ำจืดอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลานางอ้าว ปลาซิวใบไผ่ ปลาขี้ยอก ปลากระสูบขีด ปลากดเหลือง ปลาดุกด้าน ปลากระทุงเหว ปลาหมอช้างเหยียบ ปละกระสง และปลากระทิง ฯลฯ